วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความต่างของ 3จี กับ 3.9จี

ก.ย.นี้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เตรียมให้ใบอนุญาต 3.9จี หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไอเอ็มที ( IMT 2000) หรือ 3G and beyond” สำหรับให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ตั้งแต่ 3จี ถึง 3.9จี บนคลื่น ความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์

ชื่ออาจยังไม่คุ้นหู เพราะก่อนหน้านี้ กทช.เรียกใบอนุญาตดังกล่าว แบบสั้น ๆ ว่าใบอนุญาตสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี

แต่วันนี้เปลี่ยนชื่อเล่นใหม่เป็นใบอนุญาตสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อน ที่ระบบ 3.9จี

พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. และประธานคณะกรรมการ 3จี กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไอเอ็มที 2000 ว่า ก่อนหน้านี้กทช.จะเรียกว่าใบอนุญาต 3จีแต่ตอนนี้กทช.มีแนวทางที่จะทำให้ไทยก้าวสู่โทรศัพท์มือถือระบบ 3.9จี เพราะวันนี้ 3.9จี เป็นเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ล่าสุด มีอังกฤษ เยอรมนี และประเทศในสหภาพยุโรปใช้งาน ขณะที่การใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4จี จะเริ่มใช้งานเป็นมาตรฐานต้นปีหน้า โดยเริ่มผลิตอุปกรณ์สำหรับรองรับการใช้งาน 4จี ปลายปีนี้ และอีก 3 ปี จึงจะผลิตอุปกรณ์วางขายในเชิงพาณิชย์

“ถ้าวันนี้ประเทศไทยเริ่มต้นที่ 3จี ก็คงเป็นประเทศท้าย ๆ ในอาเซียนที่มี 3จี ใช้งาน แต่ถ้าประเทศไทยเริ่มต้นที่ 3.9จี จะเป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียนที่ใช้งานซึ่งความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลและใช้งานอินเทอร์เน็ต ของ 3.9จี สูงถึง 42 เมกะบิตต่อวินาที และสามารถพัฒนาความเร็วในการใช้งานได้สูงสุดถึง 84 เมกะบิตต่อวินาที เร็วกว่า 3จี ที่ใช้งานได้ 2 เมกะบิตต่อวินาที ถึง 20 เท่า” พ.อ.ดร.นที กล่าว

พ.อ.ดร.นที กล่าวว่า ขณะนี้กทช.เห็นชอบที่จะผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ 3.9จี แม้การออกใบอนุญาตไอเอ็มที 2000 จะไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องลงทุนอุปกรณ์และโครงข่าย สำหรับ 3.9จี แต่เป็นเป้าหมายที่กทช.เห็นพ้องต้องกันว่าจะพาประเทศไทยก้าวกระโดดจาก 3จี สู่ 3.9จี

เบื้องต้น กทช. วาง กรอบเวลาการออกใบอนุญาตไอเอ็มที 2000 ว่า จะออกใบอนุญาตได้ในเดือน ก.ย.นี้ โดยเดือน มิ.ย.-ก.ค. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ ขณะที่เดือน ส.ค. จะเปิดรับพิจารณาคุณสมบัติขั้นต้นของผู้สนใจเข้าร่วมประมูล

ย้อนกลับมาเรื่องแนวคิดที่กทช.ต้องการพาประเทศไทยกระโดดจาก 3จี สู่ 3.9จี พ.อ.ดร.นที กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ 3จี มีความเห็นว่าการเปลี่ยนแนวคิดจาก 3จี สู่ 3.9จี ต้องเตรียมพร้อมเรื่องคลื่นความถี่ที่ต้องมีความกว้างมากพอสำหรับการใช้งาน เช่น ดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมาก และไฟล์ขนาดใหญ่ ดังนั้นคณะกรรมการ 3จี มีความเห็นที่จะเปลี่ยนจำนวนและย่านความถี่การออกใบอนุญาตเหลือเพียง 3 ใบ โดยมีช่วงคลื่นความถี่ใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ย่านความถี่ 1920-1980 เมกะเฮิรตซ์ 2110-2170 เมกะเฮิรตซ์และ 2010-2025 เมกะเฮิรตซ์

จากเดิมที่จะออกใบอนุญาตจำนวน 4 ใบ ช่วงคลื่นความถี่ 15 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ใบ และความถี่ 10 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบ

ขณะที่ระยะเวลาของใบอนุญาตยังอยู่ที่ 15 ปี แต่มีข้อกำหนดเรื่อง คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลหรือขอรับใบอนุญาตว่า บริษัทที่ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2 จีอยู่แล้ว หลังจากประมูลใบอนุญาตไอเอ็มที 2000 ได้แล้ว ยังสามารถให้บริการระบบ 2 จีต่อไปได้จนหมดอายุสัญญาสัมปทาน และเมื่อหมดอายุสัญญาสัมปทานแล้วไม่สามารถขอต่อสัญญาสัมปทานเพื่อให้บริการ ระบบ 2จี ต่อได้อีก โดยต้องเลือกว่าจะให้บริการระบบโทรศัพท์ 2จี หรือ 3จี ซึ่งคณะกรรมการ 3จี คาดว่าอีก 8 ปีหลังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 2จี หมดอายุสัญญาสัมปทาน จะทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2จี ยุติการให้บริการในประเทศไทย

จากข้อมูลสัญญาสัมปทานของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2จี ในประเทศไทย บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เหลืออายุสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อีก 8 ปี ส่วนบริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เหลืออายุสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) อีก 6 ปี และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด เหลืออายุสัญญาสัมปทานที่ทำกับกสท อีก 5 ปี

หลังยุติการให้บริการระบบโทรศัพท์มือถือ 2จี ย่านคลื่นความถี่ทั้งหมด เช่น ย่านความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ย่านความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ ย่านความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และ 2.5 กิกะเฮิรตซ์ กทช.จะเรียกคืนคลื่น และนำมาจัดสรรเพื่อให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4จี ต่อไป

ทั้งนี้ ความเห็นของคณะกรรมการ 3จี ที่กล่าวข้างต้น พ.อ.ดร.นที ระบุว่า ในวันที่ 4-5 มิ.ย.นี้ คณะกรรมการ 3จีจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกทช. เพื่อพิจารณาถึงแนวคิดในการออกใบอนุญาต 3.9จี ที่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากการทำประชาพิจารณ์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี กับระบบ 3.9จี คือความเร็วในการรับส่งข้อมูลจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งระบบ 3จี ให้ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลได้สูงสุด 14.4 เมกะบิตต่อวินาที ขณะที่ 3.9จี ให้ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลได้สูงสุด 84 เมกะบิตต่อวินาที อย่างไรก็ตามทั้งระบบ 3จี และ 3.9จี สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นร่วมกันได้ โดยปรับแต่งคลื่นการส่งให้ตรงกัน ส่วนการใช้งานด้านเสียงใช้ร่วมกันได้ แต่อุปกรณ์ในการรับ-ส่งสัญญาณที่แตกต่างกัน ทำให้การใช้งานต้องมีเครื่องลูกข่าย (โทรศัพท์มือถือ) ที่รองรับทั้งระบบ 3จีและ 3.9จี ซึ่งขณะนี้เครื่องลูกข่ายดังกล่าวยังไม่แพร่หลาย ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องที่รองรับ 2จี และ 3จี

“การที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจะลงทุนโครงข่ายระบบ 3จี หรือ 3.9จี ขึ้นอยู่กับเงินทุนที่มี เพราะการลงทุนโครงข่าย 3.9จี ต้องใช้เงินสูงกว่าการลงทุน 3จี และการจะทำให้ 3.9จี ใช้งานแพร่หลายในไทย ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องลงทุนทั้งการทำตลาด และอุปกรณ์ให้เหมือนน้ำป่าไหลหลาก เพื่อเปลี่ยนการใช้งานจาก 2จี สู่ 3.9จี โดยผู้ที่ให้บริการระบบ 2จี อาจต้องใช้กลยุทธ์การทำตลาดระบบ 3.9จี แบบขาย โปรโมชั่นพ่วงเครื่องโทรศัพท์มือถือรองรับ 3.9จี ฟรี ดังนั้นการประมูลใบอนุญาตบริษัทที่สนใจ ต้องจับมือกับบริษัทโทรคมนาคมต่าง ชาติที่ทำระบบ 3จี หรือ 3.9จี อยู่แล้ว เพื่อนำเทคโนโลยีที่บริษัทต่างชาติมีเข้ามาใช้ในไทย” แหล่งข่าววงการโทรคมนาคม กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะ เฮิรตซ์ใช้งานแล้ว จากการลงทุนของทีโอที ซึ่งมีลูกค้าประมาณ 1 แสนราย และการที่กทชให้ใบอนุญาต 3.9จี เป็นการก้าวกระโดดจาก 2จี สู่ 3.9จี โดยเปลี่ยนถ่ายลูกค้ากว่า 60 ล้านคน ที่เป็นลูกค้า 2จี สู่ 3.9จี

จำนวนลูกค้ามหาศาล และการก้าวผ่านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

มาลุ้นกันเดือน ก.ย.นี้ “ใบอนุญาต 3.9จี” จะออกได้หรือไม่?.

น้ำเพชร จันทา


สนับสนุนโดย..

http://www.onairnetwork.net : รับวางโคโล , โคโล , โคโลเคชั่น , ติดตั้งโคโล , ติดตั้งระบบเน็ท , อินเทอร์เน็ต


http://www.treehost.in.th เว็บโฮสติ้งชั้นนำของเมืองไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น